วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

สาว ๆ กับการตรวจภายในที่ไม่ควรมองข้าม



    สาว ๆ กับการตรวจภายในที่ไม่ควรมองข้าม (Lisa)

              มะเร็งปากมดลูก ซีสต์ เนื้องอก และมะเร็งที่รังไข่ หรือมดลูก สามารถรู้แต่เนิ่น ๆ ได้ด้วยการตรวจภายในและอัลตร้าซาวนด์

              ดาราสาว นิโคล คิดแมน เคยได้รับการผ่าตัดซีสต์ที่รังไข่มาแล้ว ดังนั้น สาว ๆ ทั้งหลายจึงควรให้ความใส่ใจกับสุขภาพในช่องท้องน้อยและปากมดลูก ด้วยการตรวจภายในและอัลตร้าซาวนด์ ซึ่งมีความสำคัญมากสำหรับผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นสาวโสด หรือแต่งงานแล้ว 

          
    การตรวจภายในสำหรับผู้หญิงมีความสำคัญอย่างไร

              การตรวจภายในถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคน เพราะว่ามีหลายโรคของผู้หญิงที่ตรวจพบได้ก่อน โดยที่ผู้หญิงไม่มีอาการ การตรวจภายในจึงเป็นสิ่งช่วยป้องกัน และรักษาไม่ให้เกิดการสูญเสียในอนาคตได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะได้ไม่สูญเสียอวัยวะ หรือระบบสืบพันธุ์ ดังนั้นจึงควรได้รับการตรวจภายในเป็นประจำ สม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง แม้จะไม่มีอาการอะไร

    ควรเริ่มตรวจภายในเมื่ออายุเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นสาวโสด หรือแต่งงานแล้ว

              ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่ดูจากความเหมาะสมแล้ว อายุ 25 ปีขึ้นไปก็ควรได้รับการตรวจภายใน แต่ถ้าแต่งงานก่อนอายุ 25 ปี ก็ควรไปรับการตรวจทุก ๆ ปี

    คนไทยที่ยังโสดมักอาย แต่สำคัญอย่างไรแม้ว่าจะโสดก็ควรตรวจภายใน

              จริง ๆ แล้วการตรวจภายในเป็นการตรวจบริเวณปากมดลูกเป็นหลัก แต่เราไม่สามารถตรวจได้ แพทย์ก็มีวิธีที่ไม่ทำให้บาดเจ็บ หรือบอบช้ำได้ ถ้าเราพบแพทย์ผู้ชำนาญในการตรวจเพียงพอ จริง ๆ แล้วสาวโสดมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกน้อย ในกรณีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลย แต่อาจมีความผิดปกติด้านอื่น ๆ ได้ แต่ก็ไม่มาก ฉะนั้น ถ้าถามว่าสาวโสดไม่ตรวจภายในได้ไหม ก็ยังพอได้ แต่อาจตรวจดูเฉพาะภายนอก แล้วก็ตามด้วยการอัลตร้าซาวนด์ทดแทน ซึ่งอัลตร้าซาวนด์เป็นเครื่องมือที่ใช้คลื่นเสียง ไม่มีรังสีใด ๆ ประโยชน์ก็อย่างเช่น ช่วยให้รู้ขนาดและรูปร่างของมดลูก ว่ายังปกติไหม

              ทั้งนี้ บางคนที่มีเนื้องอกที่มดลูกโดยไม่รู้ตัวมานาน เพราะว่า เนื้องอกของมดลูก 50% ไม่มีอาการ หรือบางคนมีก้อนเนื้องอกหรือถุงน้ำ ที่เรียกว่า ซีสต์ที่รังไข่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่มีอาการ พบได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ถึงขั้นเป็นมะเร็งก็มี

    การตรวจอัลตร้าซาวนด์ทุกปี สามารถบอกอะไรได้บ้าง

              อย่างน้อยการได้ตรวจอัลตร้าซาวนด์ ถ้าพบว่า มีเนื้องอกก็จะทำให้เรารู้ไว้ก่อนว่า เนื้องอกระดับที่เป็นอยู่อันตรายหรือยัง ก็จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ต่อไป แต่ถ้าเราไม่เคยตรวจเลย อาจรู้อาการก็ต่อเมื่อก้อนเนื้องอกใหญ่มากแล้วก็ได้ ฉะนั้น การตรวจทุกปีจึงมีประโยชน์ในการไม่ต้องรอจนมีอาการ ซึ่งจะรักษาได้ง่ายกว่า 

              นอกจากนี้ รังไข่ที่อยู่ภายในช่องท้อง หรือที่เรียกว่า ช่องเชิงกราน คือทั้งมดลูก และรังไข่อยู่ในท้องน้อย เพราะฉะนั้น การตรวจภายในสามารถช่วยได้ และถ้าได้ตรวจอัลตร้าซาวนด์ร่วมด้วยก็ยิ่งดี แต่ถ้าตรวจภายในไม่ได้ อย่างน้อยได้ทำอัลตร้าซาวนด์ก็ยังดี เพื่อจะได้ดูรังไข่และโพรงมดลูก เพราะรังไข่มีโอกาสเป็นตั้งแต่เนื้องอกจนถึงเป็นซีสต์หรือถุงน้ำ

    อวัยวะที่ควรได้รับการตรวจมีอะไรบ้าง

              ปากมดลูก มดลูก และรังไข่ ซึ่งเป็นจุดสำคัญ ที่เหลือก็เป็นจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้หญิง เช่น ท่อรังไข่ ช่องคลอด ซึ่งช่องคลอดก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญ คือ มักจะมีการตกขาวที่ผิดปกติ ซึ่งควรพบแพทย์ 

              ส่วนมดลูก ก็จะดูอาการว่า หากมีประจำเดือนผิดปกติ เช่น มาน้อย หรือหลาย ๆ เดือนมาที ก็ต้องไปพบแพทย์ เพราะมันอาจมีความผิดปกติของระดับฮอร์โมนแล้วก็มากระทบที่ตัวมดลูก

              ส่วนรังไข่ มักไม่มีอาการ แต่อาการหนึ่งที่ควรไปพบแพทย์คือ เรื่องปวดประจำเดือน โดยเฉพาะถ้ามีอายุ 20 ปีขึ้นไปแล้วยังปวดอยู่ ควรไปพบแพทย์ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับการปวดประจำเดือนโดยเฉพาะ เพราะว่ามีภาวะที่เรียกว่า เยื่อบุโพรงมดลูกงอกผิดที่ ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ไม่เกี่ยวกับเรื่องแต่งงานแล้วหรือไม่ เพราะปัจจุบันพบว่า โรคพวกนี้พัฒนาเร็วขึ้นในกลุ่มผู้มีอายุน้อย จนถึงขั้นที่เรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์

    ผู้หญิงไทยเป็นโรคอะไรมากที่สุด ในอวัยวะสืบพันธุ์

              ตกขาว ประจำเดือนผิดปกติ เนื้องอกในช่องท้อง สามอย่างนี้เป็นกันมากที่สุด แต่โรคที่พบมากที่สุดในบรรดามะเร็งคือ มะเร็งปากมดลูก ส่วนภาวะสามอย่างข้างต้นอาจมีโรคที่เกี่ยวข้องได้หลายอย่าง อาการหนึ่งอาจมีหลายโรคที่เป็นต้นเหตุ อาการที่คนไข้มักไปพบแพทย์คือ มีตกขาวมาก คันและมีกลิ่น หากมีอาการที่ว่านี้ ต้องไปพบแพทย์ 

              ประการที่สอง คือ เรื่องประจำเดือนผิดปกติ ไม่ว่าจะมาเยอะ หรือมาน้อยก็ควรไปพบแพทย์

    มีโรคอะไรบ้างที่ทำให้ผู้หญิงมีลูกยาก

              ที่พบบ่อยคือ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ ซึ่งอาจมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ อาการส่วนใหญ่ก็คือ ปวดประจำเดือน หรือไม่ปวดมาก แต่ปวดหน่วง ๆ ช่วงมีประจำเดือน ปวดหน่วงเหมือนปวดถ่วงจะถ่ายหนัก แต่พอเข้าห้องส้วมแล้วก็ไม่มีอะไร โดยเฉพาะช่วงมีประจำเดือนจะเป็นบ่อย ถ้าเป็นมากก็จะปวดตลอดโดยไม่มีประจำเดือนก็มี หรือเวลามีเพศสัมพันธ์ก็ปวดลึก ๆ 

              สาเหตุรองก็คือ ปัญหาการทำงานของรังไข่ หรือที่ท่อรังไข่ เช่น รังไข่ไม่ค่อยตกไข่ มีระดับฮอร์โมนผิดปกติ หรือท่อรังไข่ตีบตัน เช่น ปีกมดลูกเคยอักเสบบ่อย

    แล้วปีกมดลูกอักเสบเกิดจากอะไร

              ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อย มักจะติดเชื้อติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือถ้ามีคู่นอนหลายคน ก็อาจมีปัญหานี้เกิดขึ้นได้ คือ ทำให้ปวดท้องน้อยบ่อย ๆ ก็จะทำให้ท่อรังไข่อักเสบ และตีบ หรือมีพังผืดมารัด

    วัยรุ่นในปัจจุบันนิยมอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน ควรได้รับการตรวจไหม

              ควรตรวจ เพราะปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ในอายุที่น้อยลง เพราะฉะนั้นจึงควรไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับความรู้ ความเข้าใจเรื่องการคุมกำเนิด และเพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ วิธีคุมกำเนิดก็ไม่ควรไปตามร้านขายยา เพราะเราอาจไม่รู้ว่า เราเหมาะสมกับวิธีใด เพราะมียาหลายชนิด บางคนกินยาคุมกำเนิดบางยี่ห้องแล้วแพ้ ก็อาจคิดว่า ยาคุมกำเนิดไม่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งความจริงอาจไม่ใช่ แต่อาจเกิดจากการใช้ไม่ถูกประเภทของยาก็ได้

              นอกจากนี้ จะได้รู้วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย และถ้ามีปัจจัยทางการเงินพอ ก็อาจปรึกษาแพทย์ เรื่องการป้องกันมะเร็งปากมดลูกโดยการฉีดวัคซีนร่วมด้วย ซึ่งจะดีถ้าฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น ก็จะได้ประโยชน์ในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงโต หากปัจจัยทางการเงินไม่อำนวย ก็ไม่จำเป็นแต่อย่างน้อยก็ต้องไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี

    ข้อแนะนำจากแพทย์

              การตรวจภายในก็เพื่อให้ความมั่นใจกับเราว่า เราอยู่ในสภาวะปกติดี แต่อย่าคิดในทางกลับกันว่า หากไปตรวจแล้วเจอโรคล่ะก็แย่เลย ไม่ควรคิดเช่นนี้ ต้องคิดว่า ถ้าตรวจเจออะไรแล้วจะได้แก้ไขได้ก่อนซึ่งก็ถือว่า เราโชคดีที่ได้พบก่อน 

              นอกจากนี้ การตรวจพบในระยะเนิ่น ๆ ในทางการแพทย์ถือว่า มีโอกาสรักษาหายสูงมาก อะไรที่เราไม่รู้ตัวแล้วเจอทีหลังมักจะเสียโอกาส หรืออาจจะสายเกินแก้ นอกเหนือจากนี้ก็คือ ถ้ามีอาการอะไรที่ไม่แน่ใจก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ปัจจุบันสาขาสูตินรีแพทย์แบ่งเป็นสาขาย่อย เช่น แพทย์สาขาปริกำเนิด (ระยะการคลอด) สาขามะเร็ง ฯลฯ

    ข้อควรรู้

               ประจำเดือนผิดปกติ คือ ประจำเดือนมาเกิน 7 วันแล้วไม่หยุดสนิท มีสีน้ำตาลกะปริดกะปรอย เป็นอาการที่ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความไม่ปกติ หรือประจำเดือนมาไม่ถึง 3 สัปดาห์ ก็มาอีก คือมาก่อน 21 วัน

               หรือ ประจำเดือนมามากก็คือ มีเลือดเป็นก้อน เพราะประจำเดือนของผู้หญิงจะมีกลไกที่ไม่ทำให้เป็นลิ่มเลือด เมื่อเป็นลิ่มเลือดก็แสดงว่า มีมากจนสารประกอบที่ทำให้ละลายเลือดผลิตไม่เพียงพอที่จะละลายได้




    ขอบคุณข้อมูลจาก
    http://health.kapook.com/view12162.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

LinkWithin

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...
Free Hosting
loading...